วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

แนวคิดทำนา 1 ไร่ให้ได้ 1 แสนจะทำได้จริงไหม

ไปอ่านเจอบทความ การจัดการนาข้าวไปเจอบทความนึงเขามีแนวคิด ทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน
เลยคัดลอกมาให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านกัน ใครคิดว่าทำได้ทำไม่ได้อย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันครับ

ทำนาย้อนรอยภูมิปัญญาไทยแค่ 1 ไร่ได้ถึงแสน

ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่มีการ พัฒนาในด้านต่างๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ รายได้ประชาชาติสูงขึ้นจนคล้ายกับว่าบ้านเมืองนี้กำลังจะไม่มีคนยากจนให้เห็นในระยะเวลาอันสั้นนี้ แต่หากพิจารณาจากรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขรายได้และรายจ่ายของเกษตรกรย้อนหลังไปเมื่อปี 2549 – 2550 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวไทยภาคเกษตรอยู่ที่ 114,631 บาทต่อปี ในขณะที่รายจ่ายด้านการลงทุนทำการเกษตรมีประมาณ 64,261 บาท และแน่นอนว่าคนเราต้องกิน ต้องใช้ ต้องจ่าย เกษตรกรไทยจึงมีรายจ่ายในการอุปโภคบริโภคอีกประมาณ 84,465 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขที่คำนวณจากราคาสินค้าในยุคไข่มาร์ค ที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าแพงขึ้นจนใจหาย เมื่อนำรายได้และรายจ่ายมาหักลบกลบกันแล้ว เกษตรกรไทยผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศกำลังยากจนลงทุกปี

         ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ยังได้สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย เพราะการทำอาชีพเกษตรกรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ผ่านมา  แทนที่จะทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  แต่กลับเป็นผลทำให้เกิดปัญหาความยากจนที่รุมเร้าเกษตรกรไทยมายาวนาน   ดูเหมือนว่าปัญหาจะเพิ่มขึ้น และไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขได้เลยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  เมื่อความลำบากยากแค้นรุกรานชีวิต เกษตรกรก็ต้องออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง  กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกทอดหนึ่ง

นี่คือ....ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย...แล้วอะไรคือทางแก้
         การจัดการความเหลื่อมล้ำให้ลดลงนั้น  ต้องแก้ที่จุดต้นตอของปัญหา เพื่อให้ประชาชนในภาคการเกษตรหมดปัญหาความยากจน หอการค้าไทยจึงริเริ่มทำโครงการ “ภูมิปัญญาไทย นา 1 ไร่ไ ด้เงิน 1 แสน”   เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   เป็นการสร้างโมเดลต้นแบบ เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศนำวิธีการไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่อาชีพของตนเองมากที่สุด

มีคำถามว่า การทำนา 1 ไร่ จะได้เงิน 1 แสนได้อย่างไร

          คุณอดิสร พวงชมพู อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครปฐม ประธานโครงการภูมิปัญญาไทย นา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน อธิบายว่า หัวใจสัคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าว คือการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มุ่งให้คนไทยมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ เกษตรกรก็จะไม่ต้องแบมือรับความช่วยเหลือจากโครงการประชานิยมที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

          แนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ คือทฤษฎีแห่งการใช้น้ำและการบริหารงานพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชดำริขึ้นและพระราชทานไว้แก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมไม่ได้ผลในเขตแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตรโดยเฉพาะการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลักจะมีความเสี่ยงสูงมากในการขาดแคลนน้ำ กรณีฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในฤดูปลูก โดยเฉพาะการทำนาจะทำให้ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค

          ทฤษฎีใหม่ คือแนวทางที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินจำนวนน้อยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เน้นการผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี โดยให้มีพืชผักและอาหารโปรตีนจากการเลี้ยงปลา เป็ด ไก่ ไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน
          คุณอดิสรอธิบายว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะถูกผลักดันให้มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำนา ปลูกพืชเสริม และเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาไว้บริโภคและขายเป็นรายได้ แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านต้องขยันขึ้น เหนื่อยขึ้น แต่หากทำได้ตามแนวทางที่แนะนำ ในระยะยาวก็จะมีความสุขขึ้น ถือเป็นโครงการเริ่มต้นที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำบนความรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

           “เราจะต้องเปลี่ยนชาวนาให้เป็นเกษตรกร ต่อมาก็จะเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจสาขาเกษตรกรรม ผมเคยถามชาวนาว่า เคยรู้บ้างไหมว่าทำไมพวกพ่อค้าที่รับซื้อข้าวถึงรวยกว่าเรา ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่มักคิดว่าที่พ่อค้ารวยเพราะใช้วิธีกดราคารับซื้อกับชาวนา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเมื่อพ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือกไปแล้ว สิ่งที่เขานำไปขายต่อคือ ข้าวสาร แกลบ รำ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการสอนแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจให้ชาวนา ให้เขามองเห็นผลผลิตทางการเกษตรทั้งในแง่ของคุณค่าและมูลค่าในเวลาเดียวกัน”

แนวคิดที่จะทำให้ได้เงิน 1 แสน จากผืนนา 1 ไร่

          ก่อนอื่นเกษตรกรต้องยอมรับก่อนว่าตนเองเป็นหนี้จากการทำเกษตร เนื่องจากมีต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ สินค้าไม่มีความโดดเด่นในด้านคุณค่า ดังนั้นวิธีปลอดหนี้คือ ต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและเพิ่มเรื่องราวสินค้า เพื่อคุณค่าของสินค้า และเพิ่มสรรพคุณของสินค้า
          ในขณะเดียวกัน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการปลูกฝังแนวคิดใหม่ ได้แก่

          แนวความคิดที่ 1 คือการคิดแบบพ่อค้าว่าการทำนา 1 ไร่ ควรได้เงินสูงสุดเท่าไร
          แนวความคิดที่ 2 ปุ๋ยเคมีทำให้ระบบนิเวศน์เสียหาย และในที่สุดการทำนาจะเหลือเพียงการปลูกข้าวอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างผลผลิตอย่างอื่นๆ ได้
          แนวความคิดที่ 3 การทำนาแท้จริงแล้ว คือการประยุกต์ใช้ 3 วิชา คือ วิชากสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ มาบูรณาการเป็นสหวิชา

          จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ 3 คือกระบวนการการทำเกษตรแบบผสมผสาน อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ดั้งเดิมนับแต่ในอดีตที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เกษตรกรในวันนี้ จะย้อนกลับไปทำเกษตรแบบที่บรรพบุรุษไทยเคยทำ

สหวิชาบนแปลงนา 1 ไร่

          ก่อนอื่นเกษตรกรจะต้องแบ่งพื้นที่ 1 ไร่ ออกเป็น 2 ส่วน
          ส่วนที่ 1 สำหรับเป็นพื้นที่ทำนา โดยวิธีการเตรียมแปลงนาใช้วิธีการไถหมักหญ้า โดยก่อนไถจะรดน้ำหมักจุลินทรีย์ก่อนจึงค่อยไถหมัก ระหว่างการไถหมักให้เตรียมกล้า โดยการเพาะกล้าในแปลงนาและนำกล้ามาเลี้ยงในถาดปลูก ต่อมาจึงโยนกล้าโดยปล่อยให้น้ำขึ้นมาที่ระดับ 5 ซม. เพื่อบำรุงต้นข้าว ให้ต้นข้าวมีการแตกกอ และยังเป็นการสกัดไม่ให้เม็ดหญ้าเจริญเติบโต หลังจากนั้นปล่อยลูกปลาและกุ้งลงไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้เกิดการกินกันเองเมื่อปลาโตขึ้น

          ส่วนที่ 2 ใช้เป็นพื้นที่ประมง โดยการขุดร่องน้ำรอบแปลงนาขนาดกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร สำหรับร่องนี้จะควบคุมระดับน้ำที่ใช้กับทั้งการประมงและการปลูกพืชน้ำ อาทิ การเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์ทั้งหมดจะเป็นปุ๋ยแก่ข้าว โดยน้ำในร่องน้ำจะเป็นตัวกลางในการถ่ายของเสียจากสัตว์มาเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าว

          ส่วนบริเวณคันนา จะต้องปรับให้กว้าง 1.5 เมตร เพื่อปลูกพืชเสริมประกอบตามความเหมาะสม อาทิ พริก มะนาว มะรุม เป็นต้น ซึ่งพืชที่ปลูกบนคันนาจะสามารถสร้างอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร หรือพืชผักสวนครัวทุกชนิดที่กินได้ เหลือแล้วนำไปทำพืชสมุนไพร ป้องกัน/กำจัดศัตรูพืช และยังเป็นพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ ซึ่งจะปล่อยเป็ดไข่ไปหาอาหารตามแปลงนาได้ โดยพื้นที่ 1 ไร่นี้จะล้อมรอบด้วยมุ้งสีฟ้า

ที่มาของรายได้ 5 ส่วน

          ส่วนที่ 1 ผลผลิตข้าวจากนาข้าว เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวสาร ปลายข้าว แกลบ รำ และฟางข้าว แต่รายได้จะเกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในกรณีที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำในลักษณะโรงสีชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้นด้วย
          ส่วนที่ 2 ผลผลิตจากการประมง อาทิ ปลาดุก กุ้ง กบ ปู หอย
          ส่วนที่ 3 ผลผลิตจากพืชประกอบที่ปลูกบนคันนา อาทิ ตะไคร้ สะเดา พริก มะนาว ข่า ตะไคร้ มะเขือ หอมแดงหรือ มะรุม
          ส่วนที่ 4 ผลผลิตพืชน้ำ ซึ่งเป็นพืชที่ไม่มีต้นทุนการปลูก อาทิ ผักเทา ผักแว่น ผักแขยง
          ส่วนที่ 5 ผลผลิตจากเป็ดไข่ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประกอบ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วบนพื้นที่นำร่องที่บ้านหนองแต้ บ้านบ่อ บ้านกุดเชียง ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเกษตรกรในชุมชนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ จะทำหน้าที่เป็นต้นแบบจากการปฏิบัติในเชิงประจักษ์ ซึ่งจะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเกษตรกร รายอื่นๆ ที่สนใจต่อไป

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกษตรกรได้รับจากการปรับพื้นที่ 1 ไร่ ไปสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น นอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วยังเป็นการฟื้นฟูและสร้างระบบนิเวศน์ให้เป็นพื้นที่เกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ช่วยขจัดต้นทุนค่าปุ๋ย/ยาได้อย่างเห็นผลและยังเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้กลับคืนมา ซึ่งจะช่วยสานต่ออาชีพเกษตรกรไทยให้ยังคงอยู่ต่อไปได้

 คุณอดิสร เปิดเผยว่า “การที่หอการค้าไทยซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจ ได้เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือภาคการเกษตรของไทย เนื่องจากภาคเอกชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการเป็นทัพหน้าคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันยังมีความสัมพันธ์กับภาคการเกษตรและเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการผลิตและการตลาดในเชิงหุ้นส่วนธุรกิจที่พึ่งพากัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรฐานราก เพราะหากไม่มีเกษตรกร นักธุรกิจก็คงไม่มีสินค้าที่จะนำไปขาย โครงการภูมิปัญญาไทย นา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาคเอกชนจะแสดงถึงการมีมิตรไมตรีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ตามประเพณีของสังคมไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน”

          เกษตรกรที่อยากจะปลดหนี้และมีรายได้เรือนแสน ก่อนอื่นต้องมีหัวใจตั้งมั่น พร้อมจะดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วจึงนำวิธีการที่หอการค้าไทยแนะนำไปปรับใช้ ก็น่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นได้ไม้มากก็น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความขยันและหยาดเหงื่อที่พร้อมจะทุ่มเทลงไปบนพื้นที่ 1 ไร่ ขยันมาก เหงื่อออกมาก และคิดมากแบบนักธุรกิจ เงินแสนก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น